สถาบันพระมหากษัตริย์กับการเกษตรไทย : พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่ทำขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีประชาชนประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นพระราชพิธีที่สะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเพาะปลูกภาพสะท้อนของสังคม การมีส่วนร่วมของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และราษฎร บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์กับการพัฒนาการเกษตร โดยคติความเชื่อ รูปแบบพระราชพิธีในแต่ละยุคสมัยมีการปรับเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย
สมัยอยุธยา
ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจในสมัยอยุธยา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงเป็นพระราชพิธีเพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจให้เกษตรกรในการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม
ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาด้วยพระองค์เอง ทรงมอบพระราชอำนาจให้กับผู้แทนพระองค์ คือ เจ้าพญาจันทกุมาร พระภิกุมาร (พระจันทกุมาร) หรือพระอินทกุมารเป็นผู้แรกนา โดยสันนิษฐานว่า ชื่อเจ้าพญาจันทกุมาร พระจันทกุมาร หรือพระอินทกุมารเป็นชื่อตำแหน่ง
การมอบพระราชอำนาจนี้แสดงถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องจากพระองค์จะไม่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใด ๆ เป็นเวลา ๓ วัน ได้แก่ ไม่ทรงตัดสินคดีความ ไม่เสด็จออกขุนนาง เพื่อทรงปรึกษาหารือข้อราชการต่าง ๆ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ยังแสดงให้เห็นได้จากการที่พระองค์ทรงยกภาษีค่าท่าและอากรขนอนตลาดพระราชทานแก่ผู้แทนพระองค์ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนา ในช่วงเวลา ๓ วันซึ่งมีการประกอบพระราชพิธีนี้
สมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๔
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นช่วงที่ราชสำนักไทยพยายามฟื้นฟูบ้านเมืองภายหลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บรายได้เข้าท้องพระคลังเพิ่มมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่เรียกว่า “ภาษีเดินสวนเดินนา” ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บตามจำนวนผลผลิตที่ประเมินได้จากที่สวนไร่นาของราษฎร
การจัดเก็บภาษีเดินสวนเดินนา แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงเป็นพระราชพิธีสำคัญที่สามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้เกษตรกร
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติม “พระราชพิธีพืชมงคล” ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ เข้ามาเพื่อความเป็นสิริมงคล ประกอบพระราชพิธีนี้ก่อนวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
สมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๑๐
สภาพสังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๑๐ มีลักษณะผสมผสานระหว่างความเชื่อทางเหตุผลนิยม โดยมีโลกทัศน์โน้มนำไปในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ยังคงรักษาโลกทัศน์แบบเดิมไว้ควบคู่กันไปด้วย คือ พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเช่นเดิม แม้มีบางช่วงเวลาที่จัดเพียงพระราชพิธีพืชมงคลก็ตาม แต่ก็ยังรักษาพระราชพิธีนี้ไว้ เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมอันดีงาม และขวัญกำลังใจของชนในชาติ
พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร แสดงถึงความสำคัญของการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่และให้พิจารณาเหตุผลเกี่ยวกับการประกอบพระราชพิธีนี้ ดังความตอนหนึ่งที่ว่า
“คนไทยบางคนอาจเห็นเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับกาลสมัย และเป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับวิทยาการบางอย่าง เพราะการทำนาย เกี่ยวกับเรื่องพระยาแรกนาหยิบผ้านุ่งก็ดี หรือเกี่ยวกับพระโคกินของ อย่างนั้นอย่างนี้ ดูจะไม่มีหลักวิชาการแต่อย่างใด แต่อย่าลืมว่า เป็นประเพณีทำมาในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นสมัยที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ ย่อมได้ผลทางจิตใจและทางบำรุงขวัญ ของประชาชนโดยเฉพาะแก่ชาวนาซึ่งเป็นคนหมู่มาก ที่เราจัดทำในสมัยนี้ เพราะเป็นประเพณีที่ได้ผลดีในอดีตมาแล้ว เราจึงรักษาไว้จึงควรจะได้ พิจารณาทำความเข้าใจแก่คนไทยและชาวต่างประเทศในข้อนี้ด้วย”
พระมหากษัตริย์ทรงนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกแบบใหม่เข้ามาใช้ ในการเกษตรกรรมด้วยการทำให้ราษฎรอยู่ดีกินดี เป็นพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญอย่างมาก ดังเช่นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพัฒนาการเกษตรในด้านต่าง ๆ ควบคู่กับการประกอบ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้แก่ การชลประทาน การส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาข้าว เป็นต้น
นอกจากนี้ในช่วงรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๑๐ นี้ มีการจัดการประกวดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ประชาชนเอาใจใส่ในการพัฒนาพันธุ์ข้าว อีกทั้งชนชั้นนำมีความสนใจองค์ความรู้ในด้านการเกษตร เริ่มจากองค์ความรู้เรื่องทำนาที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงพระนิพนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความคิดของชนชั้นนำได้ชัดเจนในเรื่องการนำองค์ความรู้มาใช้ในการเกษตรกรรม องค์ความรู้เหล่านี้ก็ได้ถ่ายทอดสู่ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตราธิการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการแนะนำและชี้แจงเรื่องเพาะปลูก เรื่องเลี้ยงไหม ทำไหม และเรื่องทอผ้าสำหรับแจกประชาชน และการจัดแสดงนิทรรศการทางการเกษตร เป็นต้น
สมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๑๐ นั้น ข้าวเป็นสินค้าที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจตลอดมา เกือบจะเป็นสินค้าหลัก ในการส่งขายต่างประเทศ และเป็นอาหารหลักในประเทศ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ในช่วงเวลานี้จึงทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้าวในด้านต่าง ๆ ทั้งกระบวนการ เพาะปลูก การผลิต และสายพันธุ์ เห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำนาทดลองอย่างที่พระองค์เคยทอดพระเนตรในต่างประเทศ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง พ.ศ. ๒๕๕๐ อีกทั้งโปรดให้จังหวัดรายงานสถิติน้ำฝน จัดประกวดพันธุ์ข้าวครั้งแรกที่ธัญบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ และนำเครื่องจักรไถนา มาทดลองเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงความเอาพระราชหฤทัยใส่เป็นอย่างมาก ที่จะทรงพัฒนาการทำนาของไทยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาด
นอกจากนี้ ในรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๖ ทรงให้ความสำคัญ กับพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่สุดของประเทศ โดยการปรับปรุงและขยายงาน ประกวดให้กว้างขวางออกไปกว่าแต่ก่อน คือ ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวต่าง ๆ จากทุกมณฑลมาแสดง นอกจากนี้ยังมีการแสดงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกสิกรรม และหัตถกรรม เป็นต้น
ในรัชกาลที่ ๙ โปรดให้ทำแปลงนาทดลองในสวนจิตรลดา พระราชทานพันธุ์ข้าวซึ่งทรงปลูกในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กับพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เข้าร่วมในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และแจกจ่ายแก่เกษตรกร ทรงให้การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวของสถาบัน และส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มาแต่อดีตจนปัจจุบันโดยมีข้าวเป็นหลัก พระมหากษัตริย์จึงทรงแสดงให้เห็นว่า ทรงให้ความสำคัญแก่การปลูกข้าวอย่างยิ่ง และพระราชทานกำลังใจแก่เกษตรกร ผ่านพระราชพิธี ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในด้านการพัฒนาเกษตรกรรม ทรงนำความรู้ด้านเกษตรกรรมมาเผยแพร่ให้แก่ประชาชนจากการทดลองด้วยพระองค์เอง และวิทยาการ ตลอดจนเทคโนโลยีแบบใหม่จากการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวและพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรมให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ พระมหากษัตริย์หลายพระองค์จึงทรงทำนาและทำการเกษตรอื่น ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนับสนุนให้ประชาชนทำพิธีทำขวัญข้าว เนื่องจากเป็นการรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้มิให้สูญหาย โดยโปรดให้มีพิธีทำขวัญข้าวเป็นประจำในแปลงนาสาธิตบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อเป็นตัวอย่างและชักจูงให้ประชาชนรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้ให้อยู่คู่กับสังคมไทย
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมิได้ใช้พระราชอำนาจตามคติโบราณเท่านั้น แต่ใช้พระบารมีในการสร้างสิริมงคล ขวัญ กำลังใจ และพระราชทานความรู้ในการพัฒนาการเกษตร พระบารมีดังกล่าวคือการที่ทรงศึกษาสั่งสมความรู้ด้วยพระองค์เอง และส่งเสริมผู้อื่นให้เกิดการวิจัยพัฒนาและปฏิบัติทั้งเรื่องเกษตรกรรมโดยตรงและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุน จึงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงพัฒนาด้านดิน น้ำ และด้านอื่น ๆ ที่จะสนับสนุน การเกษตรกรรมตลอดมาด้วย
ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาด้านน้ำก็มีการพัฒนา ขุดคูคลอง ระบบชลประทานต่าง ๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา และสิ่งที่ทั่วโลกยกย่อง คือ โครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โครงการพระราชดำริฝนหลวงเกิดขึ้นจาก พระราชดำริส่วนพระองค์ในคราวที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชน ในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร ๑๕ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒ - ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของประชาชนและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวพระราชดำรินั้นแก่ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล
จาก พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปร สภาพอากาศซึ่งทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนมั่นพระราชหฤทัย จึงพระราชทานแนวพระราชดำรินี้แก่ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้นในปีถัดมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ - ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการและหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก จากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจา จากประชาชนว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็น นิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จึงทำให้เกิดโครงการฝนหลวงขึ้นและคงอยู่ถึงปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลงของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จากอดีตสู่ปัจจุบัน (การเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน)
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีกรรมสำคัญสำหรับประเทศที่มีการปลูกข้าวเป็นหลักของการเกษตรกรรมเช่นประเทศไทย ข้าวเป็นอาหารหลักและเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศ ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ องค์พระประมุขได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของข้าวและการเกษตรกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีเพื่อเป็นสิริมงคล ขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร เป็นพระราชพิธีสำคัญประจำปี และถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน หรือพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ รายละเอียดของพระราชพิธีมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมีพื้นฐานเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อทั้งในเรื่องผีและความเชื่อทางศาสนา โดยในช่วงแรกเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผี ต่อด้วยความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต่อมามีการเพิ่มความเชื่อทางศาสนาพุทธเข้าไปด้วย การผสมผสานความเชื่อที่หลากหลายนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเหมาะสมกับวิถีของสังคมไทย
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกร ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า แว่นแคว้นใดที่องค์พระประมุขจัดพระราชพิธีแรกนาขึ้นได้นั้น แสดงว่ามีพระราชอำนาจมาก หมายความว่า ทรงบริหารบ้านเมืองประสบผลสำเร็จ บ้านเมืองสงบสุข ร่มเย็นมั่นคง เป็นปึกแผ่น และมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรและพืชพันธุ์ธัญญาหาร นั่นคือสิ่งที่พระมหากษัตริย์และประชาชนร่วมกันสรรค์สร้างต่อมา พระราชพิธีนี้ไม่ได้เป็นการประกาศพระราชอำนาจแก่ชาติอื่น แต่เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร ยืนยันให้เห็นการสนับสนุนขององค์พระประมุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีต่อเกษตรกรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
วันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในยุคหลังจวบจนปัจจุบัน แสดงให้เห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยต่อคติธรรมของพระราชพิธี และความมุ่งหวังในการพัฒนาทางการเกษตร การเข้าร่วมในพระราชพิธีก็ดี การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชจากลานแรกนาก็ดี มีนัยแห่งการเสริมสร้างสิริมงคลแก่ชีวิตของตนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือเชื่อว่าเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่จะผลิตต่อไป ที่สำคัญก็คือเกษตรกรผู้ส่งผลิตผลเข้าประกวดและมารับพระราชทานรางวัลในแต่ละปี ก็แสดงถึงความบันดาลใจที่เขาเหล่านั้นได้รับจากงานพระราชพิธีและพระบรมราชูปถัมภ์ด้านการพัฒนาการเกษตร จึงประสบความสำเร็จได้ประกาศเกียรติยศของตนและประเทศชาติไปพร้อมกัน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงเป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงความผูกพันหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับประชาชน และประกาศให้นานาประเทศเห็นว่าการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและการพัฒนานั้นสามารถดำเนินการไปด้วยกันได้
......................................................
ข้อมูล : หนังสือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ : การเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน, กรมศิลปากร, ๒๕๖๕
URL: